6 ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
6 SIDE EFFECTS หลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุถึงผลข้างเคียงที่มักพบหลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พร้อมวิธีการรับมือ ดังนี้
1.เจ็บบริเวณที่ฉีด คุณสามารถกินยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ แต่ถ้ารู้สึกเจ็บมากขึ้น หรือมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวตามปกติ ควรรีบไปพบแพทย์
2.มีรอยแดงบริเวณที่ฉีด เป็นอาการปกติที่พบได้หลังฉีดยา 2-3 วัน
3.ปวดตามร่างกาย (นอกจากบริเวณที่ฉีด) เป็นสัญญาณว่าภูมิคุ้มกันได้รับการกระตุ้น โดยหลังฉีดวัคซีน 2 สัปดาห์ ร่างกายจึงจะได้รับการกระตุ้นอย่างเต็มที่
4.รู้สึกคันบริเวณที่ฉีด หรือมีผื่นคันทั้งตัว ควรรีบไปพบแพทย์ด่วน เพราะอาจเกิดได้จากปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
5.มีไข้ หากเป็นผลจากการฉีดวัคซีนจะเป็นไข้ต่ำๆ เช่น 38.5 องศาเซลเซียสเท่านั้น ถ้าเป็นไข้สูง ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป
6.วิงเวียน คลื่นไส้ ไม่ใช่ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน แต่เกิดจากการกลัวเข็ม (Needle Phobia) หากคุณมีอาการดังกล่าว ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบก่อนฉีด จะได้เตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัย
รู้ทั้งผลข้างเคียงและวิธีรับมือแล้ว ย่อมช่วยให้เข้ารับการฉีดวัคซีนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
ศิริกร โพธิจักร
(Some images used under license from Shutterstock.com.)
25 วิธีป้องกันหอบเหนื่อยก่อนหัวใจวาย
25 Heart Disease Guides ป้องกันหอบเหนื่อยก่อนหัวใจวาย
• นิยามหัวใจล้มเหลว
คือ ภาวะที่มีสาเหตุต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจพิการ ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ การเต้นของหัวใจผิดปกติ ทำให้หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้มีอาการซึ่งแสดงว่าร่างกายขาดออกซิเจน เช่น เปลี้ย หมดแรง ร่วมกับมีอาการที่เกิดจากเลือดไหลเข้าไปในหัวใจได้ช้าจนท้น
กรณีเลือดท้นหัวใจซีกซ้าย เลือดจะไปออกันอยู่ที่ปอด ทำให้ของเหลวในน้ำเลือดส่วนหนึ่ง รั่วผ่านผนังหลอดเลือดออกไปอยู่ในถุงลมปอด เรียกว่าภาวะน้ำท่วมปอด (Pulmonary Congestion) เวลานอนราบแรงโน้มถ่วงจะทำให้น้ำรั่วออกไปอยู่ในถุงลมมากขึ้น จึงมีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม จนต้องลุกขึ้นมานั่ง
กรณีเลือดท้นหัวใจซีกขวา เลือดจะออกันอยู่ที่หลอดเลือดดำทั่วร่างกาย ทำให้ของเหลวในน้ำเลือดรั่วผ่านผนังหลอดเลือด ออกไปอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวมกดแล้วบุ๋มที่หน้าแข้งและหลังเท้า
• อาการ
ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวจะมีอาการเหนื่อย (Dyspnea) เวลาออกแรง ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการนอนราบแล้วเหนื่อย ต้องลุกขึ้นมานั่งหายใจหรือต้องใช้หมอนหนุนหลายใบ ถ้าเป็นมากขึ้นไปอีก ก็จะมีอาการเหนื่อยแม้ขณะพัก บางครั้งมีอาการเปลี้ย ล้า อ่อนแอ เจ็บหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะออกน้อย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตาโปน หรือมองเห็นว่าตาเต้นตุบๆ
• การรักษาหัวใจล้มเหลว
1.การรักษาด้วยตนเอง
1.1.ลดน้ำหนักตัวลง ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวควรมีรูปร่างค่อนมาทางผอม อย่างน้องควรมีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่อนมาทางต่ำ คือ ไม่เกิน 23 กิโลกรัม/เมตร
1.2.ชั่งน้ำหนักทุกวัน เพื่อป้องกันน้ำคั่งในร่างกายแบบไม่รู้ตัว หากน้ำหนักเพิ่มเกิน 1.3 กิโลกรัมในหนึ่งวัน แสดงว่า มีการสะสมน้ำในร่างกายมากผิดปกติ ต้องรีบหารือแพทย์ที่รักษาอยู่ มิฉะนั้นอาการจะทรุดลงเร็วและแก้ไขยาก
1.3.คุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ความล้มเหลวของการควบคุมความดันเลือด เป็นสาเหตุหลักของหัวใจล้มเหลว เป้าหมายคือ ความดันเลือดตัวบนต้องไม่เกิน 130 มิลลิเมตรปรอท ควรซื้อเครื่องวัดความดันอัตโนมัติมาวัดเองที่บ้าน สักสัปดาห์ละครั้ง และปรับยาความดันตามความดันที่วัดได้ โดยสื่อสารกับแพทย์ผู้รักษา
1.4.ควบคุมเกลือ ไม่กินอาหารเค้ม ยิ่งจืดยิ่งดี
1.5.ควบคุมน้ำ จำกัดการดื่มน้ำไม่ให้เกินวันละ 2 ลิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเย็นไปถึงก่อนนอน ไม่ควรดื่มน้ำมาก
1.6.ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน สำคัญที่สุด การออกกำลังกายในคนเป็นหัวใจล้มเหลวนี้ ต้องทำให้ได้มากที่สุดตามกำลังของแต่ละวัน แต่ไม่รีดแรงงานถึงขนาดหมดแรงพังพาบ น่าเศร้าที่คนเป็นหัวใจล้มเหลว ไม่มีใครกล้าออกกำลังกาย นักกายภาพบำบัดก็ไม่กล้าพาไป เพราะกลัวผู้ป่วยมาเป็นอะไรคามือตัวเอง ทั้งๆ ที่การออกกำลังกายเป็นวิธีเดียวที่จะให้คนเป็นหัวใจล้มเหลว มีการงานทำงานของหัวใจดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้น เรื่องการออกกำลังกายนี้ผู้ป่วยต้องเป็นคนลงมือเอง อย่าหวังพึ่งหมอ หรือนักกายภาพบำบัด ต้องวางแผนกิจกรรมให้ตัวเองได้ออกกำลังกาย สลับกับพักอย่างเหมาะสมทั้งวัน
1.7.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ อย่างน้อยต้องฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบชนิดรุกล้ำ (IPV) เข็มเดียวคุ้มกันได้ตลอดชีวิต และฉีดยาป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละเข็มทุกปี ถ้าอายุ 60 ปีขึ้นไปแล้ว ก็ควรฉีดวัคซีนงูสวัดด้วย เรื่องวัคซีนนี้ไม่ต้องรอให้หมอแนะนำ เพราะหมอมักจะลืม เนื่องจากหมอส่วนใหญ่ถนัดแต่การรักษาโรค ไม่ถนัดการป้องกันโรค
1.8.เน้นที่การดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลบ่อยๆ เพราะงานวิจัยพบว่า การรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว แบบพาไปนอนโรงพยาบาลบ่อยๆ เป็นวิธีที่แย่กว่าการสอนให้รู้วิธีดูแลตัวเองที่บ้าน สมาคมหัวใจล้มเหลวสหรัฐอเมริกา (HFSA) แนะนำว่า แพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยตามบ้าน ควรพาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเข้าไปนอนในโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อ
1.8.1.มีอาการที่ส่อว่าหัวใจกำลังชดเชยต่อไปไม่ไหว (Decompensated) เช่น ความดันเลือดตก ไตทำงานแย่ลง มีภาวะสติเลอะเลือน
1.8.2.หอบทั้งๆ ที่นั่งพักเฉยๆ
1.8.3.หัวใจเต้นผิดจังหวะจนการไหลเวียนเลือดไม่พอ
1.8.4.มีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เช่น เจ็บหน้าอก
1.9.มีงานวิจัยระดับสูงเกี่ยวกับการใช้อาหารเสริม CoQ10 รักษาหัวใจล้มเหลว ชื่อ Q-SYMBIO พบว่า CoQ10 ลดการเกิดจุดจบที่เลวร้าย และการเสียชีวิตลงได้มากกว่ายาหลอก และเนื่องจาก CoQ10 เป็นอาหารเสริมที่มีความปลอดภัย การกินอาหารเสริม CoQ10 ร่วมด้วย จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
• การป้องกันโรค
หัวใจล้มเหลวป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยง ที่จะนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน อันได้แก่
1.ปรับอาหารไปสู่การกินอาหารจากพืชไขมันต่ำเป็นหลัก (Plan – Based Low Fat Diet)
2.ออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควรอย่างสม่ำเสมอ
3.จัดการความเครียดด้วยการฝึกสติ รำมวยจีน ฝึกโยคะ ฯลฯ
4.ลดน้ำหนักในกรณีที่อ้วน
5.จำกัดเกลือในอาหารให้น้อยลง
6.ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และให้แพทย์จัดระดับความเสี่ยงหัวใจให้ โดยผู้ป่วยต้องทราบว่า ตนเองเป็นผู้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจระดับต่ำ ปานกลาง หรือสูง เพื่อให้ใช้มาตรการจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง ต้องเพิ่มมาตรการจัดการความเสี่ยง ซึ่งอาจรวมไปถึงการปรับอาหารอย่างเข้มงวด การใช้ยาลดไขมัน การใช้ยาลดความดัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อันเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว
นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก
อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2
กรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)
วิถีใหม่ในการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อช่วงโควิด 19
สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดบังคับให้มีพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้รองรับปัญหา ด้วยความคิดสร้างสรรค์และมุมมองในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินนี้เองทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคติดต่อได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการจัดการผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19
ในขณะที่การบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นทั่วโลกต้องหยุดชะงักเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปากเกร็ดในจังหวัดนนทบุรีได้ให้ความสำคัญกับการดูแลปกป้องกลุ่มประชากรเปราะบาง และยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ โดยได้มีการนำการแพทย์วิถีใหม่มาใช้และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ความเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมของทั้งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล ตลอดจนการตัดสินใจที่รวดเร็วช่วยให้มีการพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่องและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
นพ.สรภัญ ส่งเสริมพงษ์ หัวหน้าทีมแพทย์โรงพยาบาลปากเกร็ด © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง – 2563
“โควิด 19 เป็นสิ่งท้าทาย ซึ่งบังคับให้เราต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและสร้างระบบบริการซึ่งมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง หลายสิ่งเป็นสิ่งที่เราจะทำต่อไปในอนาคต” นพ.สรภัญ ส่งเสริมพงษ์ หัวหน้าคณะแพทย์ โรงพยาบาลปากเกร็ดกล่าว
จุดเน้นสำหรับการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อพัฒนาบริการได้แก่ การใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลผู้ป่วยและเพื่อสื่อสาร ระบบการจัดการที่รวดเร็วสำหรับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล มาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลเพื่อปกป้องผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ และวิธีใหม่ในการจ่ายยา
การใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลผู้ป่วยและเพื่อสื่อสาร
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปากเกร็ดได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างระบบการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชุมชนและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ง่ายต่อการประสานงานและเพื่อให้เข้าถึงชุมชนได้ดียิ่งขึ้น
มีการใช้แอปพลิเคชัน LINE สำหรับการปรึกษาแพทย์ พยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนในสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งรวมถึงคลินิกและการให้บริการสุขภาพตามบ้านด้วย
มีการสร้างบัญชีผู้ใช้ LINE ขึ้นมาสำหรับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในคลินิกผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อและคลินิกอื่นๆเพื่อสื่อสารกับผู้ป่วยออนไลน์ ปรับการสั่งยาและจัดการเรื่องการรับยา สื่อสังคมออนไลน์ถูกนำมาใช้เพื่อรวบรวมคำถามจากประชาชนและส่งให้คลินิกที่รับผิดชอบดำเนินการต่อ
ความปลอดภัยระหว่างมาโรงพยาบาล
การจัดบริการรวดเร็วแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียวมีขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงวัยและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ ที่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจโรคและตรวจอาการทั่วไป ขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่การคัดกรอง การวัดค่าต่างๆ การพบแพทย์จนกระทั่งการรับยาถูกจัดไว้ในบริเวณเดียวเพื่อลดการที่ผู้ป่วยจะต้องเคลื่อนย้ายไปติดต่อหลายแผนก ระยะเวลาที่ผู้ป่วยใช้ที่โรงพยาบาลลดลงจาก 2-3 ชั่วโมงเหลือไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ปัจจุบันระบบนี้ถูกนำมาใช้ที่คลินิกโรคไม่ติดต่อ
ผู้ป่วยมาปรึกษากับพญ.ธีรา จันทร์เจริญสุข ที่โรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลบางพูด ซึ่งมีฉากกระจกกั้นระหว่างกลาง © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง – 2563
ระบบนัดที่พัฒนาขึ้นใช้การนัดแบบเหลื่อมเวลาเพื่อจำกัดจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลานั้นๆ
สำหรับเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อและผู้ป่วยอื่นๆ นั้น ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำให้สถานพยาบาลทุกแห่งนำขั้นตอนการปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยช่วงโควิด 19 ไปใช้ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบระบายอากาศ การเพิ่มบริเวณให้ผู้ป่วยนั่งรอ การจัดการที่นั่งเพื่อให้มีการเว้นระยะห่าง และการติดตั้งฉากพลาสติกระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย เป็นต้น
การจ่ายยา
แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้เริ่มนำวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการให้คำปรึกษาและจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อที่มีอาการรุนแรงและมีข้อจำกัดในการมารับยาด้วยตนเอง หลังจากการทบทวนประวัติผู้ป่วยในระบบอิเลคทรอนิกแล้ว พยาบาลผู้รับผิดชอบคลินิกจะติดต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรืออาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเพื่อให้ไปตรวจวัดความดันหรือเบาหวานที่บ้านผู้ป่วย และส่งผลให้แพทย์ก่อนที่จะทำการสั่งยา จากนั้นอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนจะทำการรับยาและส่งมอบยาให้ผู้ป่วยที่บ้าน
บริการ “เลื่อนล้อรอรับยา” เพื่อให้ผู้ป่วยรับยาที่โรงพยาบาลปากเกร็ด © โรงพยาบาลปากเกร็ด
ผู้บริหารโรงพยาบาลได้ตัดสินใจดำเนินนโยบายการให้ญาติที่แข็งแรงและอายุไม่มากมารับยาแทนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลได้หลังจากมีการปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ มีการจัดทำบริเวณ “เลื่อนล้อรอรับยา” ที่โรงพยาบาลปากเกร็ดสำหรับผู้ป่วยที่จะมารับยาจากตู้หรือช่องจ่ายยา และยังมีช่องทางการจัดส่งยาทางไปรษณีย์และการรับยาโดยบริการแท็กซี่ด้วย
นางหวาน เย็นสบาย ชาวปากเกร็ดวัย 76 ปีอซึ่งป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและโรคไต เป็นหนึ่งในผู้ป่วยเกือบหนึ่งหมื่นรายของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานที่ได้รับการบริการอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โดยเมื่อถึงเวลาที่ต้องรับยาเพิ่มตามนัด จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนไปที่บ้านเพื่อวัดความดันและช่วยส่งต่อข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลปากเกร็ด อีกทั้งยังช่วยนำยายามาส่งให้ถึงบ้าน “มันสะดวกมากที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนคอยดูแลช่วงโควิด 19 จะได้เลี่ยงการไปโรงพยาบาล” นางหวานกล่าว นอกเหนือจากความสะดวก บริการนี้ยังช่วยให้ประหยัดได้ราว 150 บาท สำหรับค่าเดินทางในแต่ละครั้งด้วย
นาง สุรี บัวหลาด อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน วัย 58 ปี วัดความดันให้ผู้ป่วย © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง – 2563
อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนนั้นทำงานด้วยหัวใจ “ภูมิใจมากเลยที่มาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเพราะเป็นประโยชน์แก่ชุมชน” นางสุรี บัวหลาด อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน ตำบลบางพูด วัย 58 ปีกล่าว นางสุรีเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนมา 21 ปีแล้วและรับผิดชอบดูแล 15 หลังคาเรือน นางสุรีผ่านการอบรมเรื่องการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ โภชนาการและกายภาพบำบัด เธอรู้จักแทบทุกคนในชุมชนและทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนและทีมเวชศาสตร์ครอบครัวของโรงพยาบาลปากเกร็ด มาตรการที่นำมาใช้เพื่อช่วยป้องกันการระบาดของโควิด 19 เช่น การติดตามผู้สัมผัสและการแพทย์ทางไกลได้ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพโดยรวมของศูนย์สุขภาพในตำบล
“ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งผู้ป่วยและผู้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารมากขึ้น ส่วนนี้ช่วยให้เรามีข้อมูลติดต่อผู้ป่วยที่เป็นปัจจุบันมากขึ้นและช่วยในการติดตามอาการ เราอยากทำสิ่งเหล่านี้อย่าวต่อเนื่องจนถึงหลังช่วงโควิด ซึ่งรวมถึงการมีช่องทางหลากหลายที่จะติดต่อกับผู้ป่วย การปรับข้อมูลผู้ป่วยให้เป็นปัจจุบัน และการแพทย์ทางไกล” สุพัตรา จันทร พยาบาลและผู้จัดการคลินิกโรคไม่ติดต่อ ซึ่งดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและเบาหวานที่โรงพยาบาลปากเกร็ดกล่าว
มาตรการทางสาธารณสุขหลากหลายที่นำมาใช้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 ยังคงใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ในอำเภอปากเกร็ด ได้แก่ การปรึกษาแพทย์ทางไกล และบริการแบบ”เบ็ดเสร็จในจุดเดียว” สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อซึ่งช่วยลดระยะเวลาของผู้ป่วยเมื่อต้องมาโรงพยาบาล
ดร.เรณู การ์ก ดร.ธนพันธ์ สุขสอาด และ ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ เอื้อเฟื้อข้อมูล
6 ขั้นตอนการล้างพิษตับ LIVER DETOX
6 STEP LIVER DETOX โปรแกรมล้างพิษตับ
เราต่างกังวลเรื่องสุขภาพของตัวเอง และตั้งคำถามต่างๆ นานา เช่น ทำไมเราจึงสุขภาพไม่ดี หรือสาเหตุอะไรกันนะ ที่ทำให้การทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ความเสื่อมของร่างกายนั้นมาจากความอ่อนแอของระบบอวัยวะหนึ่งอวัยวะใด ที่ส่งผลต่อกันมาเป็นทอดๆ โดยอาจเริ่มจากการที่ร่างกายต้องเผชิญกับมลภาวะรอบตัว รวมทั้งความเครียดในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ละที่ทำให้เซลล์ในร่งากายค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง และทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องยากมากขึ้น
นอกจากนี้ปัญหาข้างต้นยังทำให้ระบบการขับพิษ หรือล้างพิษของร่างากยจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับท็อกซินที่เราต้องเผชิญในแต่ละวัน ระบบนี้เป็นกลไกทางธรรมชาติที่เปลี่ยนท็อกซินให้กลายเป็นสสาร ปราศจากพิษที่ร่างกายสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือกำจัดออกไปได้
กระบวนการล้างพิษที่ช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูตัวเองได้นั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ที่ว่านี้เป็นเรื่องลึกลับ และมหัศจรรย์ที่ร่างกายทำอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะในขณะหลับหรือตื่น
รู้จักเซล์ เลือด และน้ำเหลือง
นายแพทย์ปีเตอร์ เบนเนตต์ แพทย์ธรรมชาติบำบัดจากคลินิกเมดิทรีนธรรมชาติบำบัด ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า หน่วยโครงสร้างพื้นฐานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ เซลล์ เลือด และน้ำเหลือง (Cell , Blood and Lymph) โดยเซลล์เป็นหน่วยที่จำเป็นที่สุดของสิ่งมีชีวิต ส่วนเลือดมีหน้าที่นำอาหารไปบำรุงเซลล์ และน้ำเหลืองนำของเสียออกจากร่างกาย
เซลล์
เซลล์ทุกชนิดประกอบด้วยนิวเคลียส ไมโครคอนเดรีย และเยื่อหุ้มเซลล์ ทั้งหมดนี้เป็นโครงสร้างสำคัญในกิจกรรมการเผาผลาญ ที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้
1.นิวเคลียสมีดีเอ็นเอ เป็นศูนย์ความทรงจำ และการควบคุมชีวเคมีของร่างกาย
2.ไมโครคอนเดรีย สร้างโมเลกุลจำเพาะ สำหรับสร้างพลังงาน
3.เยื่อหุ้มเซลล์เป็นตัวกลางในการสื่อสารของเซลล์
ท็อกซินทำร้ายเซลล์
การเผชิญหน้ากับท็อกซิน โดยเฉพาะท็อกซินที่มาจากสารเคมีอุตสาหกรรม เป็นตัวก่อโรคมะเร็ง คุณหมอปีเตอร์ให้เหตุผลไว้ว่า สารเคมีดังกล่าวจะทำลายดีเอ็นเอ และขัดขวางการทำงานของนิวเคลียส ซึ่งเป็นไปได้ 2 ทาง ดังนี้
1.ท็อกซินจะเปลี่ยนโครงสร้างเซลล์ ทำให้เกิดความสับสนในการแสดงออกของดีเอ็นเอ
2.ท็อกซินจะแตกตัว ก่ออนุมูลอิสระ ขโมยอิเล็กตรอนจากดีเอ็นเอ และเปลี่ยนรหัสดีเอ็นเอไป โดยไม่มียาชนิดไหนแก้ไขได้ ท็อกซินบางชนิดเป็นอันตราย ซึ่งจะโจมตีดีเอ็นเอในตับ หลอดเลือดแดง และระบบประสาทส่วนกลาง
เมื่อท็อกซินเดินทางเข้าสู่ไมโครคอนเดรีย ร่างกายจะสร้างอนุมูลอิสระ โดยไม่มีเอนไซม์ที่จะทำให้ท็อกซิน และธาตุโลหะหนักแตกตัว การรักษาด้วยการล้างพิษ จะช่วยป้องกันการก่อตัวของอนุมูลอิสระเหล่านี้ โดยการทำให้ท็อกซินในตับแตกตัว และถูกขจัดออกก่อนจะเข้าสู่ไมโครคอนเดรีย
เมื่อเซลล์สูญเสียความสามารถในการล้างพิษด้วยตัวเองไปแล้ว ท็อกซินจะไปเป็นตัวรับของเยื่อหุ้มเซลล์ และสร้างสิ่งที่เรียกว่า “คลื่นท็อกซิน” (Toxic Noise) ซึ่งรบกวนการสื่อสารระหว่างเซลล์ ทำลายความสามารถของสมอง และรบกวนการสื่อสารในระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท และระบบต่อมไร้ท่อ
เลือด
“เลือด” เชื่อมโยงทุกอวัยวะในร่างกายเข้าด้วยกัน เลือดประกอบไปด้วยน้ำ แร่ธาตุ โปรตีน เซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยทุกๆ จังหวะการเต้นของหัวใจ เลือดจะไหลเข้าสู่เนื้อเยื่อไปถึงอวัยวะต่างๆ ส่งอาหารที่จำเป็นไปสู่เซลล์และกำจัดเซลล์ที่ตายแล้ว
คุณหมอปีเตอร์ยังบอกอีกว่า เลือดช่วยให้โมเลกุลเคลื่อนที่จากส่วนหนึ่งของร่างกาย ไปยังอีกส่วนหนึ่ง เพื่อทำความสะอาดระบบล้างพิษ อาทิ ตับ และสร้างเส้นทางให้เซลล์สารต้านท็อกซิน อาทิ ระบบภูมิคุ้มกัน
ท็อกซินทำร้ายเลือด
เลือดเปราะบางต่อท็อกซินมาก จึงเป็นหน่วยแรกของร่างกายที่ถูกโจมตี เมื่อเลือดปนเปื้อนท็อกซิน มันจะกระจายท็อกซินดังกล่าว ไปยังเซลล์ทั้งหมดของร่างกาย
การล้างพิษจึงช่วยล้างเลือด โดย นายแพทย์สตีเฟน แบร์รี แพทย์ธรรมชาติบำบัด ผู้เขียนหนังสือ “7-Day Detox Miracle” พบว่า การเปลี่ยนอาหารการกินและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด จะช่วยผลักดันให้อวัยวะในระบบภูมิคุ้มกันกรองท็อกซินในเลือดได้
น้ำเหลือง
คุณหมอสตีเฟนบอกว่า หลังจากที่เลือดได้ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว เลือดจะเดินทางต่อไปยัง 2 ช่องทาง คือ ไหลผ่านระบบไหลเวียนเลือดแดง และไหลผ่านท่อเล็กๆ ของระบบน้ำเหลือง ซึ่งเป็นเครือข่ายของเส้นเลือดฝอย ที่อยู่ในเนื้อเยื่อทั้งหมด
ก่อนที่จะเข้าสู่เครือข่ายนี้ เลือดจะถูกแยกออกจากเซลล์เม็ดเลือดแดง เพื่อสร้างของเหลวที่เรียกว่า “น้ำเหลือง” ขึ้นมา โดยท่อเล็กๆ ของระบบน้ำเหลืองนั้นมีน้ำเหลืองบรรจุอยู่ถึง 15 ลิตร ซึ่งมากกว่าปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกายถึง 3 เท่า
น้ำเหลืองภายในท่อเล็กๆ เหล่านี้จะไหลเข้าสู่พื้นที่กรองเล็กๆ ที่เรียกว่า “ต่อมน้ำเหลือง” ซึ่งมีอยู่บริเวณขาหนีบ รักแร้ คอ และบริเวณหน้าท้องรอบๆ ลำไส้
ต่อมน้ำเหลืองมีมากกว่า 600 ต่อมทั่งร่างกาย มีหน้าที่เป็นตัวกรอง โดยในแต่ละต่อม เซลล์เม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่เสมือนผู้ปกป้อง ตรวจสอบแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อโรคอันตรายในน้ำเหลือง เมื่อพบผู้บุกรุกเซลล์เม็ดเลือดขาวก็จะทำลายทันที
ในตับ ต่อมน้ำเหลืองทำหน้าที่เป็นตัวกรองขั้นต้นในการจำแนกแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อโรคต่างๆ เพื่อล้างพิษเบื้องต้น เป็นการแบ่งเบาการทำงานของตับ
The 6 Steps of Detoxification
6 ขั้นตอนการล้างพิษ
การล้างพิษเป็นกระบวนการหนึ่งของร่างกายที่จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น ฟื้นฟูความเจ็บป่วย โดยการกระตุ้นระบบเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งคุณหมอสตีเฟนบอกว่า มี 6 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
STEP 1 ขจัดปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพ ปัญหาที่ส่งผลกระทบตอ่สุขภาพที่สำคัญ คือ ความเครียดของร่างกายที่เกิดจากมลภาวะ ซึ่งหากรุนแรงก็จะทำให้เกิดความผิดปกติในระบบเการเผาผลาญ และทำให้กลไกการป้องกันตามธรรมชาติของร่างกายเสื่อมสภาพลง
การอดอาหาร โดยดื่มเฉพาะน้ำอย่างเดียวเป็นเวลา 2 วัน และวางแผนการกินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน จะช่วยให้ระบบย่อยได้พัก โดยขั้นตอนนี้ร่างกายจะดึงพลังงานที่สะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อออกมาใช้ และในกระบวนการนี้ท็อกซินที่อยู่ในเนื้อเยื่อจะถูกนำออกมาอยู่ในระบบเลือด ก่อนจะถูกขับออกไป
STEP 2 ปรับปรุงการไหลเวียน การติดเชื้อ การอักเสบ การบาดเจ็บ และพยาธิสภาพต่างๆ ในการเกิดโรค จะได้รับการตอบสนองเชิงบวกต่อการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง คุณหมอสตีเฟนกล่าวว่า การเคลื่อนตัวของของเหลวที่ว่านี้ จะนำพาสารอาหาร ออกซิเจนและเซลล์ดีพร้อมสู้โรค มายังเนื้อเยื่อที่กำลังเผชิญปัญหา รวมทั้งนำขยะจากการเผาผลาญ ของเสียจากการอักเสบ และท็อกซินอื่นๆ ออกไปจากร่างกาย ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติต่อการไหลเวียนของเลือด จึงเป็นสัญญาณบอกโรค
อย่างไรก็ตามการใช้อควาเทอราปี การฝังเข็ม และการรักษาแนวธรรมชาติบำบัด จะช่วยให้ระบบประสาทซิมพาเทติกฟื้นฟูการทำงานของร่างกาย ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ
STEP 3 กระตุ้นการกำจัดของเสีย เมื่อระบบการไหลเวียนเริ่มนำท็อกซินออกมาจากเนื้อเยื่อ ร่างกายก็จะต้องกำจัดท็อกซินเหล่านั้นออกไป โดยขับออกผ่านเหงื่อ ปัสสาวะและอุจจาระ
คุณหมอสตีเฟนกล่าวว่า เราช่วยเพิ่มความสามารถในการกำจัดของเสียออกจากร่างกายทางผิวหนังปัสสาวะ และอุจจาระได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการขับถ่ายของเสียออกจากลำไส้ใหญ่ ผ่านการชะล้าง (การทำดีท็อกซ์แบบชีวจิต หรือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Coffee Enema) การกินยาสมุนไพรเพื่อช่วยระบาย และการอบซาวน่า เพื่อขับเหงื่อออกทางผิวหนัง
STEP 4 ซ่อมแซมระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินอาหารเป็นเสมือนบ้านของจุลินทรีย์หลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะว่าไปมำจนวนมากกว่าเซลล์ทั้งหมดในร่างกาย ระบบทางเดินอาหารจึงเป็นระบบที่ซับซ้อน
นอกจากนี้ในระบบดังกล่าวยังมีแบคทีเรียที่มีน้ำหนักรวมกันถึง 3 ปอนด์ บางชนิดเป็นแบคทีเรียดี ในขณะที่บางชนิดอันตราย ซึ่งทั้งสองชนิดต่างก็ต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ชนิดของตนเองมีจำนวนมากกว่า แต่แน่นอนว่า ในสภาวะร่างกายที่แข็งแรงนั้น จำนวนแบคทีเรียดีย่อมมีมากกว่า
ทั้งนี้หากแบคทีเรียชนิดอันตรายมีจำนวนมากกว่าแบคทีเรียชนิดดีเมื่อใด ร่างกายก็จะสร้างท็อกซินขึ้น ซึ่งจะแทรกซึมเข้าไปในกระแสเลือด กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดทั้งโรคเฉียบพลัน และโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ความไม่สมดุลระหว่างแบคทีเรียชนิดดี และชนิดอันตรายยังเป็นสาเหตุของการแพ้อาหารต่างๆ ปัญหาผิวหนัง การปวดหัวไมเกรน ฯลฯ อีกด้วย
วิธีรักษา
ดร.เจฟฟ์ แบลนด์ ผู้ก่อตั้งสถาบันการแพทย์แนวฟังก์ชันนัล (Functional Medicine) ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า หากต้องการซ่อมแซมระบบทางเดินอาหาร และกระตุ้นกลไกการล้างพิษ จะต้องทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.เติมแบคทีเรียชนิดดีให้ลำไส้ใหญ่
2.ปรับปรุงระบบย่อยอาหาร เพื่อให้อาหารได้รับการย่อยอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เน่าเสีย
3.เพิ่มระยะเวลาการเดินทางของอาหาร ไปยังลำไส้ใหญ่ โดยการเคี้ยวช้าๆ
4.ฝึกร่างกายให้ลดภาวะลำไส้ขี้เกียจ (Leaky Gut)
STEP 5 กระตุ้นตับ ตับเป็นอวัยวะที่แบกรับภาระการทำงานของร่างกายมากมาย รวมทั้งกระบวนการที่มีชื่อว่า “กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ” (Biotransformation) โดยเลือดจะไหลผ่านเข้าสู่ตับพร้อมกับของเสีย และท็อกซินมากมายที่รอการกำจัดออก รวมทั้งสารอาหารที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นพลังงาน วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยให้การทำงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างและฟื้นฟูเซลล์
คุณหมอปีเตอร์ ผู้ช่วยเขียนหนังสือ “7-Day Detox Miracle” ให้ความรู้ว่า ตับยังผลิตน้ำดีและคอเลสเตอรอล ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย และช่วยกำจัดไขมันจากอาหาร ที่จริงแล้วระบบการเผาผลาญและการทำงานของร่างกายดังกล่าว เชื่อมโยงกับอวัยวะตับไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น ถ้าอวัยวะตับไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จะส่งผลกระทบต่อทุกระบบในร่างกาย
ดีท็อกซ์ตับ
เราจำเป็นต้องกำหนดรูปแบบการอดอาหาร และการกินอาหารอย่างเมหาะสม โดยคุณหมอปีเตอร์และคุณหมอสตีเฟนแนะนำ ให้กินกรดแอมิโนที่ได้จากโปรตีนธรรมชาติที่มีอยู่ในพืชต่างๆ เช่น ธัญพืชไม่ขัดขาว เพื่อกระตุ้นการล้างพิษแอนติออกซิแดนต์ วิตามิน และสมุนไพร เพื่อช่วยรักษา ป้องกันการทำลายอนุมูลอิสระ ป้องกันตับ และอวัยวะอื่นๆ ส่วนสมุนไพรจะช่วยสร้างน้ำดีเพื่อนำสารพิษออกจากตับ
นอกจากนี้กิจกรรมที่กระตุ้นการไหลเวียนของระบบโลหิต เช่น อะควาเทอราปี ซาวน่า กระโดดเชือก โยคะ จะช่วยบังคับการเคลื่อนที่ของเลือดผ่านลำไส้ใหญ่และตับ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน และการล้างพิษทำงานดีขึ้น
STEP 6 แปลงร่างความเครียด ในระยะยาวฮอร์โมนความเครียด จะส่งผลกระทบด้านลบต่ออวัยวะทุกระบบในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการล้างพิษ โดยทำให้กระบวนการกรองสารพิษอ่อนแอลง รวมทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะลำไส้ขี้เกียจ หรือ Leaky Gut ได้ นอกจากนี้ความรู้สึกด้านลบยังมีผลกระทบต่อระบบการทำงานของหัวใจ และหลอดเลือดอีกด้วย
คุณซาร่า เฟย์ ผู้ช่วยคุณหมอปีเตอร์และคุณหมอสตีเฟน พบว่า การกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกบวกนั้น เป็นกุญแจสำคัญในการล้างพิษทางอารมณ์ การเปลี่ยนความคิดให้ไปจดจ่ออยู่กับเรื่องบวก สามารถทำได้ด้วยการกำหนดจิตตัวเอง สวดมนต์ ปฏิญาณตน และเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในบ้านและสถานที่ทำงาน เพื่อลดพฤติกรรม และความรู้สึกด้านลบที่มักจะเกิดเมื่ออยู่ในบรรยากาศเก่าๆ
นอกจากนี้การผ่อนคลายในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานอดิเรก การอ่านหนังสือ การเล่นดนตรี การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ ก็เป็นกิจกรรมสำคัญที่จะป้องกันคุณจากความคิดด้านลบ และความเครียดทางกายได้
อะควาเทอราปีเพื่อการล้างพิษ
อะควาเทอราปีเพื่อการล้างพิษนั้น เป็นวิธีกระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่เก่าแก่ที่สุดวิธีหนึ่ง สามารถทำได้โดยการอาบน้ำอุ่น (จนร้อน) สลับกับการอาบน้ำเย็น เพื่อให้เลือดไหลเวียนภายใต้ผิวหนัง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดไปยังเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ
The Liver
กิจกรรมชีวเคมีส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระบบการย่อยอาหารและการเผาผลาญรวมทั้งอวัยวะตับ โดย “ตับ” เป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการกรองของเสีย ให้กับทุกโมเลกุลเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในร่างากย และเปลี่ยนท็อกซินให้กลายเป็นสสารไม่อันตราย ที่สามารถสลายออกไปจากร่างกายได้
ตับทำความสะอาดเลือดและทำให้เลือดบริสุทธิ์ เพื่อส่งไปบำรุงเลี้ยงร่างกายต่อไป ดังนั้น ความอ่อนแอหรอืความผิดปกติใดๆ ที่เกิดขึ้นกับตับส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะทั้งหมด
การรักษาโรคโดยวิธีธรรมชาติบำบัด (Naturopathic) ยืนยันว่า หลายโรคสามารถรักษาได้ด้วยการกระตุ้นการทำงานของตับ
กระบวนการกำจัดของเสียออกจากตับ
คุณหมอปีเตอร์ระบุว่า ร่างกายของเราไม่ชอบเก็บโมเลกุลชนิดใดชนิดหนึ่งไว้นาน แม้จะเป็นโมเลกุลที่ดี อาทิ ฮอร์โมน ซึ่งก็ถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือถูกกำจัดออกจากร่างกายอยู่เสมอ เอนไซม์ที่ช่วยล้างพิษเป็นตัวสำคัยที่คอยส่งเสริมให้ตับสามารถทำลายโมเลกุล ทั้งชนิดที่ดีและเป็นพิษได้ โดยเอนไซม์ดังกล่าว เป็นโมเลกุลที่ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ร่างกายของเรามีเอนไซม์นับพันชนิด โดยที่แต่ละชนิดก็มีหน้าที่แตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วเอนไซม์จะทำหน้าที่เป็นเหมือนสบู่ที่คอยกำจัดความมัน โดยย่อยให้กลายเป็นโมเลกุลเล็กๆ และกำจัดมันออกไปจากร่างกายในที่สุด
การทำความสะอาดตับระยะแรก
ในระยะแรกนี้เอนไซม์จะทำให้ท็อกซินแตกตัวออกเป็นขนาดปานกลาง โดยท็อกซินบางชนิดจะถูกกำจัดในระยะนี้ แต่บางชนิดก็ต้องถูกส่งต่อไปกำจัดยังระยะที่สอง
การทำความสะอาดตับระยะที่สอง
ท็อกซินขนาดปานกลางจะถูกส่งไปตามเส้นทางล้างพิษ 6 เส้นทาง ซึ่งท็อกซินเหล่านี้จะถูกทำให้แตกตัว มีขนาดเล็กลงไปอีก และเกาะเข้ากับโมเลกุลโปรตีนชนิดจำเพาะ ที่จะทำหน้าที่นำพาท็อกซินออกไปจากร่างกาย ในรูปแบบของปัสสาวะหรืออุจจาระ
7 Days Detox Miracle
คุณหมอปีเตอร์แนะนำโปรแกรมช่วยตับล้างพาในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
• ดื่มเฉพาะน้ำแร่บริสุทธิ์ อย่างน้อยวันละประมาณ 2 ลิตร
• ดื่มน้ำผลไม้เจือจางโดยการเติมน้ำเปล่าลงไปในน้ำผลไม้สดหนึ่งเท่าตัว
• กินเฉพาะอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก
• ดื่มน้ำอาร์ซีหรือน้ำต้มจากข้าว 9 ชนิด ซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีนจากธัญพืชวันละ 2 ครั้ง โดยอาจดื่มระหว่างมื้ออาหาร
• กินบีตรู้ตทุกวัน โดยปรุงเป็นอาหารต่างๆ ทั้งแบบปรุงสุกหรือกินสด
• ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง อาจเป็นการเดิน รำกระบอง โยคะ
• ทำให้เหงื่อออกทุกวัน ทั้งนี้อาจด้วยการออกกำลังกายหรืออบซาวน่า
• นอนหลับอย่างน้อยคืนละ 6-7 ชั่วโมง
• หลีกเลี่ยงการกินอาหารจนแน่นท้อง หรือกินอาหารทั้งที่ไม่รู้สึกหิว
• หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มกาเฟอีน
• หลีกเลี่ยนกิจกรรมที่กระตุ้นร่างกายาในช่วงเวลากลางคืน เช่น ดูทีวี ดูหนัง ปาร์ตี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการพักสมองตลอดช่วงเวลา 7 วัน
• หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือสารกันบูด
ธปัน แสงสุวรรณ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)
7 สัญญาณมะเร็งที่ควรรู้
7 สัญญาณมะเร็งที่ควรรู้
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แนะวิธีเช็กความผิดปกติในร่างกาย ดังนี้
1.ระบบขับถ่ายเปลี่ยนไป เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
2.มีแผลที่รักษาแล้วไม่หาย
3.คลำพบก้อนเนื้อหรือตุ่มตามร่างกายที่ไม่ยุบ แต่กลับเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ
4.กลืนอาหารลำบาก
5.มีเลือดออกแบบผิดปกติจากทวารต่างๆ
6.มีการเปลี่ยนแปลงของไฝและหูด
7.ไอหรือเสียงแหบเรื้อรัง
หากมีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์ ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพอย่างละเอียด
ศิริกร โพธิจักร
(Some images used under license from Shutterstock.com.)