วิถีใหม่ในการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อช่วงโควิด 19
สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดบังคับให้มีพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้รองรับปัญหา ด้วยความคิดสร้างสรรค์และมุมมองในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินนี้เองทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคติดต่อได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการจัดการผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19
ในขณะที่การบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นทั่วโลกต้องหยุดชะงักเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปากเกร็ดในจังหวัดนนทบุรีได้ให้ความสำคัญกับการดูแลปกป้องกลุ่มประชากรเปราะบาง และยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ โดยได้มีการนำการแพทย์วิถีใหม่มาใช้และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ความเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมของทั้งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล ตลอดจนการตัดสินใจที่รวดเร็วช่วยให้มีการพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่องและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
นพ.สรภัญ ส่งเสริมพงษ์ หัวหน้าทีมแพทย์โรงพยาบาลปากเกร็ด © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง – 2563
“โควิด 19 เป็นสิ่งท้าทาย ซึ่งบังคับให้เราต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและสร้างระบบบริการซึ่งมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง หลายสิ่งเป็นสิ่งที่เราจะทำต่อไปในอนาคต” นพ.สรภัญ ส่งเสริมพงษ์ หัวหน้าคณะแพทย์ โรงพยาบาลปากเกร็ดกล่าว
จุดเน้นสำหรับการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อพัฒนาบริการได้แก่ การใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลผู้ป่วยและเพื่อสื่อสาร ระบบการจัดการที่รวดเร็วสำหรับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล มาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลเพื่อปกป้องผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ และวิธีใหม่ในการจ่ายยา
การใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลผู้ป่วยและเพื่อสื่อสาร
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปากเกร็ดได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างระบบการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชุมชนและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ง่ายต่อการประสานงานและเพื่อให้เข้าถึงชุมชนได้ดียิ่งขึ้น
มีการใช้แอปพลิเคชัน LINE สำหรับการปรึกษาแพทย์ พยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนในสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งรวมถึงคลินิกและการให้บริการสุขภาพตามบ้านด้วย
มีการสร้างบัญชีผู้ใช้ LINE ขึ้นมาสำหรับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในคลินิกผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อและคลินิกอื่นๆเพื่อสื่อสารกับผู้ป่วยออนไลน์ ปรับการสั่งยาและจัดการเรื่องการรับยา สื่อสังคมออนไลน์ถูกนำมาใช้เพื่อรวบรวมคำถามจากประชาชนและส่งให้คลินิกที่รับผิดชอบดำเนินการต่อ
ความปลอดภัยระหว่างมาโรงพยาบาล
การจัดบริการรวดเร็วแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียวมีขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงวัยและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ ที่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจโรคและตรวจอาการทั่วไป ขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่การคัดกรอง การวัดค่าต่างๆ การพบแพทย์จนกระทั่งการรับยาถูกจัดไว้ในบริเวณเดียวเพื่อลดการที่ผู้ป่วยจะต้องเคลื่อนย้ายไปติดต่อหลายแผนก ระยะเวลาที่ผู้ป่วยใช้ที่โรงพยาบาลลดลงจาก 2-3 ชั่วโมงเหลือไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ปัจจุบันระบบนี้ถูกนำมาใช้ที่คลินิกโรคไม่ติดต่อ
ผู้ป่วยมาปรึกษากับพญ.ธีรา จันทร์เจริญสุข ที่โรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลบางพูด ซึ่งมีฉากกระจกกั้นระหว่างกลาง © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง – 2563
ระบบนัดที่พัฒนาขึ้นใช้การนัดแบบเหลื่อมเวลาเพื่อจำกัดจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลานั้นๆ
สำหรับเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อและผู้ป่วยอื่นๆ นั้น ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำให้สถานพยาบาลทุกแห่งนำขั้นตอนการปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยช่วงโควิด 19 ไปใช้ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบระบายอากาศ การเพิ่มบริเวณให้ผู้ป่วยนั่งรอ การจัดการที่นั่งเพื่อให้มีการเว้นระยะห่าง และการติดตั้งฉากพลาสติกระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย เป็นต้น
การจ่ายยา
แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้เริ่มนำวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการให้คำปรึกษาและจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อที่มีอาการรุนแรงและมีข้อจำกัดในการมารับยาด้วยตนเอง หลังจากการทบทวนประวัติผู้ป่วยในระบบอิเลคทรอนิกแล้ว พยาบาลผู้รับผิดชอบคลินิกจะติดต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรืออาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเพื่อให้ไปตรวจวัดความดันหรือเบาหวานที่บ้านผู้ป่วย และส่งผลให้แพทย์ก่อนที่จะทำการสั่งยา จากนั้นอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนจะทำการรับยาและส่งมอบยาให้ผู้ป่วยที่บ้าน
บริการ “เลื่อนล้อรอรับยา” เพื่อให้ผู้ป่วยรับยาที่โรงพยาบาลปากเกร็ด © โรงพยาบาลปากเกร็ด
ผู้บริหารโรงพยาบาลได้ตัดสินใจดำเนินนโยบายการให้ญาติที่แข็งแรงและอายุไม่มากมารับยาแทนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลได้หลังจากมีการปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ มีการจัดทำบริเวณ “เลื่อนล้อรอรับยา” ที่โรงพยาบาลปากเกร็ดสำหรับผู้ป่วยที่จะมารับยาจากตู้หรือช่องจ่ายยา และยังมีช่องทางการจัดส่งยาทางไปรษณีย์และการรับยาโดยบริการแท็กซี่ด้วย
นางหวาน เย็นสบาย ชาวปากเกร็ดวัย 76 ปีอซึ่งป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและโรคไต เป็นหนึ่งในผู้ป่วยเกือบหนึ่งหมื่นรายของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานที่ได้รับการบริการอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โดยเมื่อถึงเวลาที่ต้องรับยาเพิ่มตามนัด จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนไปที่บ้านเพื่อวัดความดันและช่วยส่งต่อข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลปากเกร็ด อีกทั้งยังช่วยนำยายามาส่งให้ถึงบ้าน “มันสะดวกมากที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนคอยดูแลช่วงโควิด 19 จะได้เลี่ยงการไปโรงพยาบาล” นางหวานกล่าว นอกเหนือจากความสะดวก บริการนี้ยังช่วยให้ประหยัดได้ราว 150 บาท สำหรับค่าเดินทางในแต่ละครั้งด้วย
นาง สุรี บัวหลาด อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน วัย 58 ปี วัดความดันให้ผู้ป่วย © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง – 2563
อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนนั้นทำงานด้วยหัวใจ “ภูมิใจมากเลยที่มาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเพราะเป็นประโยชน์แก่ชุมชน” นางสุรี บัวหลาด อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน ตำบลบางพูด วัย 58 ปีกล่าว นางสุรีเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนมา 21 ปีแล้วและรับผิดชอบดูแล 15 หลังคาเรือน นางสุรีผ่านการอบรมเรื่องการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ โภชนาการและกายภาพบำบัด เธอรู้จักแทบทุกคนในชุมชนและทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนและทีมเวชศาสตร์ครอบครัวของโรงพยาบาลปากเกร็ด มาตรการที่นำมาใช้เพื่อช่วยป้องกันการระบาดของโควิด 19 เช่น การติดตามผู้สัมผัสและการแพทย์ทางไกลได้ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพโดยรวมของศูนย์สุขภาพในตำบล
“ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งผู้ป่วยและผู้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารมากขึ้น ส่วนนี้ช่วยให้เรามีข้อมูลติดต่อผู้ป่วยที่เป็นปัจจุบันมากขึ้นและช่วยในการติดตามอาการ เราอยากทำสิ่งเหล่านี้อย่าวต่อเนื่องจนถึงหลังช่วงโควิด ซึ่งรวมถึงการมีช่องทางหลากหลายที่จะติดต่อกับผู้ป่วย การปรับข้อมูลผู้ป่วยให้เป็นปัจจุบัน และการแพทย์ทางไกล” สุพัตรา จันทร พยาบาลและผู้จัดการคลินิกโรคไม่ติดต่อ ซึ่งดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและเบาหวานที่โรงพยาบาลปากเกร็ดกล่าว
มาตรการทางสาธารณสุขหลากหลายที่นำมาใช้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 ยังคงใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ในอำเภอปากเกร็ด ได้แก่ การปรึกษาแพทย์ทางไกล และบริการแบบ”เบ็ดเสร็จในจุดเดียว” สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อซึ่งช่วยลดระยะเวลาของผู้ป่วยเมื่อต้องมาโรงพยาบาล
ดร.เรณู การ์ก ดร.ธนพันธ์ สุขสอาด และ ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ เอื้อเฟื้อข้อมูล