Tag: เหนื่อยหอบ
25 วิธีป้องกันหอบเหนื่อยก่อนหัวใจวาย
25 Heart Disease Guides ป้องกันหอบเหนื่อยก่อนหัวใจวาย
• นิยามหัวใจล้มเหลว
คือ ภาวะที่มีสาเหตุต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจพิการ ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ การเต้นของหัวใจผิดปกติ ทำให้หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้มีอาการซึ่งแสดงว่าร่างกายขาดออกซิเจน เช่น เปลี้ย หมดแรง ร่วมกับมีอาการที่เกิดจากเลือดไหลเข้าไปในหัวใจได้ช้าจนท้น
กรณีเลือดท้นหัวใจซีกซ้าย เลือดจะไปออกันอยู่ที่ปอด ทำให้ของเหลวในน้ำเลือดส่วนหนึ่ง รั่วผ่านผนังหลอดเลือดออกไปอยู่ในถุงลมปอด เรียกว่าภาวะน้ำท่วมปอด (Pulmonary Congestion) เวลานอนราบแรงโน้มถ่วงจะทำให้น้ำรั่วออกไปอยู่ในถุงลมมากขึ้น จึงมีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม จนต้องลุกขึ้นมานั่ง
กรณีเลือดท้นหัวใจซีกขวา เลือดจะออกันอยู่ที่หลอดเลือดดำทั่วร่างกาย ทำให้ของเหลวในน้ำเลือดรั่วผ่านผนังหลอดเลือด ออกไปอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวมกดแล้วบุ๋มที่หน้าแข้งและหลังเท้า
• อาการ
ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวจะมีอาการเหนื่อย (Dyspnea) เวลาออกแรง ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการนอนราบแล้วเหนื่อย ต้องลุกขึ้นมานั่งหายใจหรือต้องใช้หมอนหนุนหลายใบ ถ้าเป็นมากขึ้นไปอีก ก็จะมีอาการเหนื่อยแม้ขณะพัก บางครั้งมีอาการเปลี้ย ล้า อ่อนแอ เจ็บหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะออกน้อย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตาโปน หรือมองเห็นว่าตาเต้นตุบๆ
• การรักษาหัวใจล้มเหลว
1.การรักษาด้วยตนเอง
1.1.ลดน้ำหนักตัวลง ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวควรมีรูปร่างค่อนมาทางผอม อย่างน้องควรมีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่อนมาทางต่ำ คือ ไม่เกิน 23 กิโลกรัม/เมตร
1.2.ชั่งน้ำหนักทุกวัน เพื่อป้องกันน้ำคั่งในร่างกายแบบไม่รู้ตัว หากน้ำหนักเพิ่มเกิน 1.3 กิโลกรัมในหนึ่งวัน แสดงว่า มีการสะสมน้ำในร่างกายมากผิดปกติ ต้องรีบหารือแพทย์ที่รักษาอยู่ มิฉะนั้นอาการจะทรุดลงเร็วและแก้ไขยาก
1.3.คุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ความล้มเหลวของการควบคุมความดันเลือด เป็นสาเหตุหลักของหัวใจล้มเหลว เป้าหมายคือ ความดันเลือดตัวบนต้องไม่เกิน 130 มิลลิเมตรปรอท ควรซื้อเครื่องวัดความดันอัตโนมัติมาวัดเองที่บ้าน สักสัปดาห์ละครั้ง และปรับยาความดันตามความดันที่วัดได้ โดยสื่อสารกับแพทย์ผู้รักษา
1.4.ควบคุมเกลือ ไม่กินอาหารเค้ม ยิ่งจืดยิ่งดี
1.5.ควบคุมน้ำ จำกัดการดื่มน้ำไม่ให้เกินวันละ 2 ลิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเย็นไปถึงก่อนนอน ไม่ควรดื่มน้ำมาก
1.6.ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน สำคัญที่สุด การออกกำลังกายในคนเป็นหัวใจล้มเหลวนี้ ต้องทำให้ได้มากที่สุดตามกำลังของแต่ละวัน แต่ไม่รีดแรงงานถึงขนาดหมดแรงพังพาบ น่าเศร้าที่คนเป็นหัวใจล้มเหลว ไม่มีใครกล้าออกกำลังกาย นักกายภาพบำบัดก็ไม่กล้าพาไป เพราะกลัวผู้ป่วยมาเป็นอะไรคามือตัวเอง ทั้งๆ ที่การออกกำลังกายเป็นวิธีเดียวที่จะให้คนเป็นหัวใจล้มเหลว มีการงานทำงานของหัวใจดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้น เรื่องการออกกำลังกายนี้ผู้ป่วยต้องเป็นคนลงมือเอง อย่าหวังพึ่งหมอ หรือนักกายภาพบำบัด ต้องวางแผนกิจกรรมให้ตัวเองได้ออกกำลังกาย สลับกับพักอย่างเหมาะสมทั้งวัน
1.7.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ อย่างน้อยต้องฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบชนิดรุกล้ำ (IPV) เข็มเดียวคุ้มกันได้ตลอดชีวิต และฉีดยาป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละเข็มทุกปี ถ้าอายุ 60 ปีขึ้นไปแล้ว ก็ควรฉีดวัคซีนงูสวัดด้วย เรื่องวัคซีนนี้ไม่ต้องรอให้หมอแนะนำ เพราะหมอมักจะลืม เนื่องจากหมอส่วนใหญ่ถนัดแต่การรักษาโรค ไม่ถนัดการป้องกันโรค
1.8.เน้นที่การดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลบ่อยๆ เพราะงานวิจัยพบว่า การรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว แบบพาไปนอนโรงพยาบาลบ่อยๆ เป็นวิธีที่แย่กว่าการสอนให้รู้วิธีดูแลตัวเองที่บ้าน สมาคมหัวใจล้มเหลวสหรัฐอเมริกา (HFSA) แนะนำว่า แพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยตามบ้าน ควรพาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเข้าไปนอนในโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อ
1.8.1.มีอาการที่ส่อว่าหัวใจกำลังชดเชยต่อไปไม่ไหว (Decompensated) เช่น ความดันเลือดตก ไตทำงานแย่ลง มีภาวะสติเลอะเลือน
1.8.2.หอบทั้งๆ ที่นั่งพักเฉยๆ
1.8.3.หัวใจเต้นผิดจังหวะจนการไหลเวียนเลือดไม่พอ
1.8.4.มีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เช่น เจ็บหน้าอก
1.9.มีงานวิจัยระดับสูงเกี่ยวกับการใช้อาหารเสริม CoQ10 รักษาหัวใจล้มเหลว ชื่อ Q-SYMBIO พบว่า CoQ10 ลดการเกิดจุดจบที่เลวร้าย และการเสียชีวิตลงได้มากกว่ายาหลอก และเนื่องจาก CoQ10 เป็นอาหารเสริมที่มีความปลอดภัย การกินอาหารเสริม CoQ10 ร่วมด้วย จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
• การป้องกันโรค
หัวใจล้มเหลวป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยง ที่จะนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน อันได้แก่
1.ปรับอาหารไปสู่การกินอาหารจากพืชไขมันต่ำเป็นหลัก (Plan – Based Low Fat Diet)
2.ออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควรอย่างสม่ำเสมอ
3.จัดการความเครียดด้วยการฝึกสติ รำมวยจีน ฝึกโยคะ ฯลฯ
4.ลดน้ำหนักในกรณีที่อ้วน
5.จำกัดเกลือในอาหารให้น้อยลง
6.ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และให้แพทย์จัดระดับความเสี่ยงหัวใจให้ โดยผู้ป่วยต้องทราบว่า ตนเองเป็นผู้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจระดับต่ำ ปานกลาง หรือสูง เพื่อให้ใช้มาตรการจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง ต้องเพิ่มมาตรการจัดการความเสี่ยง ซึ่งอาจรวมไปถึงการปรับอาหารอย่างเข้มงวด การใช้ยาลดไขมัน การใช้ยาลดความดัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อันเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว
นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก
อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2
กรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)